Tuesday, March 21, 2006

เพลงผม และ ขอบ่นหน่อย

ผมเซ็งมากเลยโพสต์บทความตั้งไม่รู้กี่ครังก็หายหมด ตั้งแต่บทความวิจารณ์นรเศรษฐ, บทความเรื่องจากเชซุปเปอร์ฮีโร่, บทความเรื่องดนตรีอเมริกัน ผมไม่โพสต์มันเป็นครั้งที่ 5 หรือ 6 ละ เพราะมันก็ไม่ได้ดีอะไรขนาดนั้น

เอาลิงค์บทความวิจารณ์นรเศรษฐใน Open ไปแล้วกัน

http://www.onopen.com/2006/editor-spaces/391

แล้วก็ลิงค์เพลงผมเป็น Midi ใช้คลิกขวาที่ลิงค์และกด Save As

http://ia300238.us.archive.org/2/items/Dark_Tranquility__Nevermore_Influence/DarkTranquilityNevermoreInfluence.mid http://ia300235.us.archive.org/1/items/Arch_Enemy_and_Power_Metal_Influence/ArchEnemyandPowerMetalInfluence.mid http://ia300227.us.archive.org/1/items/Post_New_Year_2006_1/PostNewYear2006.mid http://ia300215.us.archive.org/1/items/Spiritual_Beggars_Influence/SpiritualBeggarsInfluence.mid
http://ia300237.us.archive.org/0/items/E_Dorian_Metal_Song/EDorianMetalSong.mid

Saturday, March 18, 2006

Moralizing Democracy or Democratizing Morality ? Or Beyond?

Moralizing Democracy or Democratizing Morality ? Or Beyond?[1]
By FxxkNoEvil
1
(นี่อาจเป็น Debate ทางทฤษฎีการเมืองที่ไม่ค่อยเกี่ยวอะไรกับสถานการปัจจุบัน ถ้าจะถามว่า What is to be done? นั้นไม่ใช่ประเด็นหลักในที่นี้ )ในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นสิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นได้ก็คือการเรียกร้องทาง จริยธรรม หรือ ศีลธรรม ในอาณาบริเวณของการเมือง มีผู้คนมากมายทำการเรียกร้องให้ผู้นำประเทศนั้นมีเพียบพร้อมทั้ง จริยธรรมและ ศีลธรรม คำถามประการแรกนั้นคือว่า ถ้าจะไปถามว่าจริยธรรม หรือ ศีลธรรมที่ผู้คนเรียกร้อง นั้นมันคืออะไรที่เป็นรูปธรรมท่านเหล่านั้นจะตอบได้ไหม? ผมคิดว่าหลายๆ ท่านตอบได้ คำถามต่อมาคือ ทุกๆ ท่านที่ตอบได้นั้นตอบตรงกันไหม ถ้าไม่แล้วมันหมายความว่าศีลธรรมดังกล่าวมันลื่นไหลได้ใช่ไหม? ถ้าศีลธรรมนั้นเป็นได้หลายอย่างแล้วควรไหมที่เราจะทำให้มันเป็นประชาธิปไตย? ถ้ามันลื่นไหลไม่ได้ หลักศีลธรรมต้องมีหนึ่งเดียวแล้ว คำถามก็คือ ประชาธิปไตยนั้นต้องกลายเป็นประชาธิปไตยที่อยู่ใต้ศีลธรรมหรือ? คำถามประหลาดประหลาดที่ตามมาก็คือ ถ้าการปกครองนั้นต้องอาศัยศีลธรรมที่ตายตัวแล้ว เราจะต้องการประชาธิปไตยทำไมให้มันวุ่นวาย ถ้าเกิดมาตรฐานการปกครองอยู่ที่ศีลธรรมแล้ว ทำไมเราไม่ให้ผู้มีศีลธรรมปกครองไปเลย ไม่ต้องมาเลือกตั้งให้มันวุ่นวาย แถมกระบวนการดังกล่าวนั้นอาจนำมาซึ่งผู้ไม่มีศีลธรรม คนอย่าง ประเวศ วะสี นั้นจะทำการแก้ปัญหาตรงนี้โดยการวางสร้างความสัมพันธ์ที่จำเป็น (Necessary) ระหว่างประชาชนกับศีลธรรม
ผมคิดว่าการวางประชาชนคู่กับศีลธรรมตรงนั้นเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะอ่อนในรากฐานทางความคิดมาก เป็นการกล่าวอ้างธรรมชาติมนุษย์เอาอย่างดื้อๆ โดยไม่ต้องสนใจเลยว่ามันมีข้อถกเถียงอันไร้สัญญาณแห่งการยุติมานานแค่ไหนถึงธรรมชาติมนุษย์ (ผมคงไม่ต้องยกตัวอย่างนะ)
ผมไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดแบบนี้มากๆ เพราะ มันไม่สามารถอธิบายการได้ผู้ปกครองที่ไร้ศีลธรรมได้อย่างแน่นอน
คนเหล่านั้นอาจโยงประเด็นไปเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาว่า "คนนั้นยังมีการศึกษาไม่พอ" (เป็นการปรามาสวุฒิภาวะทางปัญญาของประชาชนอย่างสุภาพและนิ่มนวลที่สุด)
คำถามของผมคือ แล้วเท่าไหร่ถึงจะพอ? ผมคิดว่าขนาดทุกคนเป็นปัญญาชนแล้วมันก็ยังไม่พอเลย มันจะทำให้ศีลธรรมที่ตายตัวนั้นง่อนแง่นด้วยซ้ำ ผมคิดว่าทั้งหมดนี่ไม่ใช่ทางออก ... หรือที่จริงแล้วระบบเรานั้นเองที่มีปัญหา?
เราต้องไปให้ไกลว่านั้นหรือเปล่า? หรือ เราก็เพียงแค่ต้องกลับไปสู่แนวคิดแบบสภาวะสมัยใหม่ที่ต้องแยกอาณาบริเวณศีลธรรมนั้นออกจากการเมือง? ผมตอบแทนใครไม่ได้ แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยมันก็คงจะมีสภาวะที่ดีกว่าสภาวะอันลักลั่นของศีลธรรมและการเมืองอย่างทุกวันนี้
2
ผมไม่ได้ โจมตีการกระทำของคนทุกวันนี้ว่ามันถูกหรือผิด แต่ประเด็นมันอาจจะเป็นว่า ทุกวันนี้เราอยู่ในพื้นที่สีเทาที่เอื้ออำนวยให้กับการลักลั่นอันนานัปการหรือเปล่า? จริงแล้วเราต้องเลือกสักอย่าง แต่เราดันไม่เลือกสักอย่างเราจะเอาทั้งคู่ ถ้าพูดในภาษาแบบหนึ่งก็คือ เราจะมีเค้กของเรา และ เราก็จะกินมันไปพร้อมๆ กัน (Have our cake and eat it.) ซึ่งของอย่างนั้นมันเป็นไปไม่ได้ ผมคิดประเด็นที่ผมยกนั้นมันถึงรากถึงโคน (Radical) กับบริบทการเมืองไทยที่ยังเรียกร้องให้ผู้ปกครองนั้นมีทศพิศราชธรรมมาก แต่ถ้าพูดตรงๆ แล้วก็คือว่าผมคิดว่าวิธีคิดดังกล่าวนั้นมีปัญหาครับอย่างน้อยก็กับประชาธิปไตย เพราะ ระบบดังกล่าวไม่ใช่หรือครับที่จะเอื้ออำนวยให้คนเราเลือก แม้ว่าทางเลือกของเราจะไม่ได้สอดคล้องไปตามหลักศีลธรรมอย่างที่ปัญญาชนอนุรักษ์นิยมหลายๆ ท่านต้องการ ประเด็นของผมก็คือ ระบบการปกครองในแบบประชาธิปไตยนั้นมันเป็นคนละเรื่องกับหลักศีลธรรมครับ ถึงที่สุดแล้วประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าการตัดสินในทางการเมืองทั้งหมดนั้นต้องมีศีลธรรม แต่มันอยู่ที่ทางเลือกกับความรับผิดชอบต่างหากครับ คนนั้นเลือกผู้นำเลวๆ ทางศีลธรรมได้ครับ ไม่ผิดหลักประชาธิปไตย ประเด็นอยู่ที่ว่าคนนั้นตระหนักรู้ (conscious) ถึงทางเลือกของเขาหรือเปล่า? ถ้าไม่ตรงนั้นถึงเป็นปัญหาครับ (นี่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเรื่องการเป็นตัวแทน [representation] ที่ผมไม่อยากพูดเดี่ยวยาว และ จริงๆ แล้วประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามศีลธรรมครับแม้จะอาจคาบเกี่ยวกันได้ สิ่งที่ประชาธิปไตยนั้นจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องกันออกไปไม่ใช่ความเลวทางศีลธรรมครับ แต่เป็นความไม่เป็นประชาธิปไตยต่างหาก)ผมคิดว่าถ้าทุกคนนั้นมีหลักศีลธรรมที่แน่นอนตายตัวแล้วเราก็คงไม่ต้องมีประชาธิปไตยกันอีก เพราะ ว่านายของทุกคนคือ "ศีลธรรม" ไม่ใช่ "ประชาธิปไตย" หรือว่าท้ายที่สุดแล้วผมนั้นก็ยังตกอยู่ใน สภาวะสมัยใหม่ (Modern) ในสายตาแบบหลายๆ คนที่กล่าวอ้าง (Claim) ตัวเองว่าเป็น หลังสมัยใหม่ (Postmodern) กันแล้วที่ผมยังแยกศีลธรรมกับการเมืองอยู่? ... ปัญหาของผมคือว่าเราต้องไปไกลกว่านั้นครับแม้ทางออกของเราจะไม่สามารถเป็นที่เข้าใจได้กับคนทั่วๆ ไป

3

ผมต้องออกตัวก่อนว่าประเด็นหลักที่ผมยกในนั้น เป็นการพยายามเข้าหาประเด็นเรื่องการแทรกแซงของศีลธรรม ,stricto sensu, (in the strict sense) ในอาณาบริเวณของการเมือง ซึ่งผมคิดว่ามันเป็น Foreign Body ที่อันตรายเป็นอย่างยิ่งกับความคิดในแบบประชาธิปไตย ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้หมายความว่า "จริยธรรม" (as oppose to morality) ในทางการเมืองนั้นไม่มี ไม่ต้องมี หรือ ไม่สมควรจะมี ตรงข้ามครับผมเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ การใช้อำนาจในระบอบประชาธิปไตยนั้นมันต้องมีวิถีการปฏิบัติ (Code of Conduct) แน่นอนครับ ประเด็นของผมคือ วิถีในการปฏิบัติ หรือ จริยธรรม (Ethics)ในทางการเมืองนั้นมันเป็นคนละเรื่องกับ ศีลธรรม (Moral) ในแบบศาสนาครับ เพราะถ้ามันเป็นศีลธรรมจริยธรรมชุดเดียวกันแล้ว ถ้าจะพูดให้มันสุดขั้ว (Extreme) ก็คือ เราคงต้องปกครองประเทศด้วย พระ หรือ ไม่ก็คนที่เหมือน พระ กันล่ะครับ ผมคิดว่าการโจมตีทักษิณด้วยเรื่องศีลธรรม จริยธรรมนั้น ในระดับหนึ่งแล้วเป็นเรื่องที่ชวนให้หลงประเด็นครับ มันเป็นการเอาประชาธิปไตยไปอยู่ใต้ศีลธรรมที่มีรากฐานมาจากศาสนาไม่มากก็น้อย อย่างที่ผมบอกว่า ศีลธรรมนั้นเป็น Foreign Body ในประชาธิปไตย มันมีนัยยะในแบบสมบูรณาญาสิทธิราชอยู่ ดังนั้นผมไม่เห็นด้วยในหลักการด้วยประการทั้งมวลที่คนนั้นจะโจมตีทักษิณ หรือ ผู้นำทางการเมืองทั้งปวงด้วยวิธีคิดที่มีรากฐานมาจากศาสนาอย่าง ศีลธรรม (Morality) (ผมค่อนข้างมั่นใจว่าหลายๆ คนนั้นตระหนักตรงนี้แต่ก็ยังทำมันในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในระดับหนึ่งแล้ว ผมขอประณามคนเช่นนั้นในฐานะปัญญาชนครับ) ผมคิดว่าการโจมตีทักษิณภายใต้พื้นฐาน (ground) แบบประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่ผมรับได้ที่สุดครับ ผมเห็นปัญญาชนหลายๆ ท่านนั้นมีข้อเสนอที่ดีในการโจมตีแบบดังกล่าว แค่ดูว่าระบบทักษิณนั้นทำลายประชาธิปไตยไปอย่างไรนั้นก็พอถมถืดแล้วครับ ไม่เห็นต้องพื่งศีลธรรมเลยในการวิพากษ์ จะว่าทักษิณนั้นทำลาย Trust ที่เป็นรากฐานเสรีประชาธิปไตยก็ว่าไป จะว่าทักษิณนั้นทำการ Abuse of Power แล้วทำการแทรกแซงสิ่งที่ควรจะเป็นอิสระในระบบก็ว่าไป จะว่าทักษิณนั้นขาด Integrity ก็ว่าไป จะว่าทักษิณนั้นขาดศีลธรรมทางการเมืองก็ว่าไป ผมคิดว่าทั้งหมดนี้ในทางหลักการแล้วสามารถล้มล้างความชอบธรรมในทางการเมืองได้ทั้งหมดในกรอบแบบประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้องพึ่งศีลธรรมในการวิพากษ์แม้แต่นิด (สิ่งที่ผมคิดเล่นๆ กับการที่คนนั้นเรียกร้องทศพิศราชธรรมโดยนัยๆ กับนายกก็คือ มันเป็นการ Interpellate นายกให้เป็นเทวดาหรือเปล่าครับ เพราะมาตรฐานดังกล่าวนั้นมันเป็นมาตรฐานที่ใช้ตั้งแต่กษัตริย์แบบเทวราชาไม่ใช่ หรือครับ? พอนายกถูกใช้มาตรฐานดังกล่าวไปด้วยแล้วก็เลยรู้สึกว่าตนนั้นเป็นเทวดาไปกันใหญ่ แต่สิ่งที่หน้าเศร้าก็คือ เทวดาตนดังกล่าวนั้นดันตระหนักถึงแต่ความเป็นเทวะของตน โดยเมินเฉยต่อศีลธรรมที่พ่วงมากับข้อเรียกร้องด้วย เราก็เลยได้เทวดาตัวแสบที่แตะต้องไม่ได้มาพักใหญ่ไงครับ)
[1] ดัดแปลงและปรับปรุงจากข้อถกเถียงในกระทู้ชื่อเดียวกันใน Web board มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออนไลน์ไปดูได้ที่ http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=midnightuniv&topic=11359&page=1 ขอบคุณทุกท่านในกระทู้ที่เข้ามาร่วมถกเถียงและแลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์

It's The Error That Constitute the Very Kernel of Our Being: The Lacanian Reading of The Sound of Thunder

หลังจากหนังเรื่อง Sound of Thunder ออกเป็นแผ่นได้ไม่นาน ผมก็รีบแจ้นไปเช่ามาดู เพราะได้ยินคำวิจารณ์หนังเรื่องนี้แบบสาดเสียเทเสียมามาก พอดูจบก็พบว่าหนังเรื่องนี้ยังคงเล่นกับมุขเก่าๆ อย่างเช่น การเปลี่ยนอดีต และ ทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีก เป็นต้น ซึ่งมันก็ไม่ได้ทำออกมาอย่างคมเท่าที่ควร (ผมไม่ใช่แฟนไซไฟ แต่ผมยกให้ ”การเล่นกับเวลา” ที่เด็ดสุดให้แก่ จุดจบแห่งนิรันดร์ (End of Eternity) ของอาซิมอฟ) ภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิคนั้นก็ไม่ได้สร้างความประทับใจให้ผมโดยสิ้นเชิง (เพราะในยุคนี้แล้ว ผมคิดว่ามันจะดีกว่านี้) แถมมันยังจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งแบบดาษๆ ที่ใครก็น่าจะเดาได้อีกด้วย แต่ด้วยแรงจูงใจบางอย่างมันก็ทำให้ผมนั้นอ่านหนังเรื่องนี้อย่างจริงจังจนได้

สาร (Message) ของหนังเรื่องนี้อย่างง่ายๆ ก็คือ “เราไม่ควรไปยุ่งกับอดีต” อันเป็นการสอนจริยศาสตร์เทคโนโลยีที่ไม่มีอะไรใหม่ หรือถ้าจะมองว่ามันเป็นการวาดภาพให้เห็นมิติในทางลบของเทคโนโลยี มันก็เป็นมุขที่ใช้กันมาไม่รู้กี่เรื่องต่อกี่เรื่องแล้ว ซึ่งถ้ามองหนังเรื่องนี้อย่างตื้นๆ เพียงแค่นี้ (ซึ่งผมก็เข้าใจว่าคนทั่วไปมองอย่างนั้น) คุณค่าของหนังเรื่องนี้คงตกกระป๋องไปเลย จึงไม่แปลกที่คนก่นด่ากันระงม แต่ในฐานะของนัก “อ่าน” ภาพยนตร์ที่ดี เราก็ควรจะอ่านมันหลายๆ แบบก่อนที่จะตัดสิน

การอ่านอีกแบบที่เป็นไปได้ก็คือการอ่านแบบมาร์กซิสต์ ซึ่งก็คือการอ่านแบบทุนเป็นผู้ร้าย การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอดีตนั้นสุดท้ายแล้วก็เป็นเพียงการสร้างกำไรให้บริษัทใหญ่ที่ได้ผลกำไรอย่างมหาศาลในโลกทุนนิยม แถมบริษัทดังกล่าวยังร่วมมือกับรัฐด้วย ดูคล้ายกับว่ารัฐนั้นให้สัมปทานในการทำกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งในสายตามาร์กซิสต์แล้วก็คงจะไม่ใช่อะไรนอกจากการที่รัฐนั้นทำหน้าที่ของมันอีกครั้ง ในการรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน ... และก็คงต้องตบท้ายการอ่านด้วย “แรงงานทั่วโลกจงรวมตัวกัน!” … ทว่านี่ก็ยังเป็นสารในแบบเก่าๆ สำหรับการอ่านแบบนี้เช่นกัน

ผู้คนนั้นชอบเรียกร้องให้นักวิจารณ์ทำการวิจารณ์หนังในเชิงบวก กล่าวคือถ้าชมก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าด่าแล้วไม่เสนอวิธีแก้ไขหรือปรับปรุงละก็ จะโดนโจมตีว่าดีแต่พูด ให้มาทำเองก็ทำไม่ได้ ... แต่พวกเขาคงลืมไปกระมังว่ามันก็เป็นไปได้เหมือนกันว่า สิ่งบางสิ่งที่นักวิจารณ์ด่านั้นมันเกินจะเยียวยาจริงๆ จนแทบจะเรียกได้ว่าสิ่งที่ดีที่สุดก็คือ ไม่ต้องสร้างมันขึ้นมาตั้งแต่แรก ส่วนสิ่งที่ดีรองลงมาก็คงจะเป็นการไม่ทำสิ่งเหล่านี้กลับมาอีก ทว่าในสายตาของผู้เขียนแล้วหนังเรื่องนี้ยังไม่เกินเยียวยา ทั้งๆ ที่มันยังเล่นมุขเก่าๆ ไปจนถึงการมีภาพ CG ที่ไม่มีความละเอียดลออเท่าที่ควร

ฉากที่ตรึงตาผู้เขียนที่สุดในหนังเรื่องนี้ก็คือการปรากฏตัวของสัตว์ประหลาดตัวที่ห้า ที่ไม่ปรากฏในโฆษณาหนัง สัตว์ประหลาดดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นจากการที่คลื่นแห่งการเวลาสุดท้ายมากระทบตัวมนุษย์ กล่าวคือมันคือผลจากการเปลี่ยนแปลงอดีตที่ส่งกลับมาถึงตัวตน (Identity) ของมนุษย์ ทำให้มนุษย์นั้นกลายเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น

มุมมองเรื่องการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ในแบบสามานย์ (Vulgar) ก็คือการที่ “เรา” นั้นจะกลายเป็นอะไรบางอย่าง ที่ไม่พึงประสงค์ถ้าเราไปยุ่งกับอดีต ซึ่งก็คือปีศาจวิทยา (Demonology) ของการเข้าไปยุ่งกับอดีตดีๆ นั่นเอง

... แต่การอ่านแบบนั้นอาจพลาดอะไรบางอย่างซึ่งก็คือ การมอง (Gaze) ของเรา เราต้องไม่ลืมว่าเรามองจากมุมมองของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้เลวร้ายในตัวมันเอง ที่มันดูเลวร้ายเพราะเราเข้าไปอยู่ในมุมมองที่เป็นไปไม่ได้ (Impossible Gaze) เราทำราวกับว่าคลื่นกาลเวลานั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดเรา (อาจเป็นที่โต้เถียงได้แต่ไม่ของยกไว้ในที่นี้) และเหนือสิ่งใดแล้วถ้าคลื่นกาลเวลาลูกสุดท้ายทำให้โลกนั้นปราศจากมนุษย์ มุมมองของมนุษย์ที่มีต่อโลกดังกล่าวตรงๆ จะเป็นไปได้อย่างไร หนังทำให้เกิดมุมมองของมนุษย์ในโลกที่ไม่มีมนุษย์ด้วยตัวผู้ชมเอง (อย่าลืมว่าไม่มีตัวละครใดในหนังที่เห็นโลกดังกล่าว) นี่คงเพียงพอกระมังสำหรับการอธิบายมุมมองที่เป็นไปไม่ได้

แต่หนังก็ไม่ได้นำเราไปถึงพวกคำถามนั้น เพราะในที่สุดแล้วพระเอกของเราก็เข้าไปแก้อดีตได้ และทุกอย่างก็จบอย่างเป็นสุข

ตนจบที่เป็นสุขตรงนี้คงจะไม่ใช่อะไรนอกจากการเข้าไปแก้ไขความผิดพลาด (Error) ในอดีตของตน ซึ่งก็คือการกลับไปในอดีตเพื่อป้องกันการเอาผีเสื้อกลับมา (อันทำให้เกิดความยุ่งเหยิงในอนาคต) สรุปง่ายๆ ว่าหนังเรื่องนี้จบด้วยการทำทุกอย่างเพื่อให้ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป เราดำรงอยู่ได้เพราะการกลับไปแก้ไขความผิดพลาดในอดีต

แต่ถ้าเราจะลองคิดถึงทางที่ตรงข้ามกันบ้าง ถ้าพระเอกแก้ไขอดีตไม่ได้ล่ะ...จะเกิดอะไรขึ้น จิตสำนึก (Conciousness) เราจะตกอยู่ในร่างสัตว์ประหลาดหรือ? หรือมันจะไม่มีตัวเราอยู่เลย? นี่ไม่ใช่คำถามที่หนังตอบ หรือแม้แต่จะตั้งออกมาตรงๆ ทว่าการแก้ไขอดีตไม่สำเร็จของพระเอกนั้นก็คงไม่ทำให้หนังนั้นแฮปปี้เอ็นดิ้งเป็นแน่

แล้วทำอย่างไรให้มันแฮปปี้เอ็นดิ้งด้วยพื้นฐานของการแก้ไขอดีตไม่สำเร็จ? ตรงนี้เองที่หนทางจะเยียวยาให้หนังเรื่องนี้นั้นมีความเฉียบคมขึ้นมาปรากฏ ผู้เขียนขอเสนอว่าให้สร้างหนังใหม่ เกี่ยวกับโลกของสัตว์ประหลาดชนิดหนึ่ง (ควรจะมีความน่ารักอยู่บ้างเพื่อที่จะให้ขายได้ – ผมไม่ได้สนับสนุนธุรกิจหนัง แต่ผมพยายามแก้หนังโดยให้หนังนั้นมีพื้นฐานเดิมมากที่สุด ไม่เช่นนั้นผมคงให้ใส่ซอมบี้กับมนุษย์ต่างดาวลงไปในหนังด้วย) ที่มีอารยธรรมจนสร้างไทม์แมชชีนได้ โดยมีเหตุการณ์เหมือนกับในเรื่องนี้ทุกอย่างแต่ เปลี่ยนจากโลกของคนเป็นโลกของสัตว์ประหลาด จนถึงในตอนท้ายที่คลื่นแห่งการเวลามาก็ให้สัตว์ประหลาดพวกนั้นกลายเป็น “คน”

การกระทำอย่างนี้จะทำให้เรารู้สึกประหลาดพิลึกในตอนท้าย เพราะการกลับไปแก้อดีตของสัตว์ประหลาดนั้นจะทำให้มนุษย์นั้นไม่มีอยู่ เราคงจะรู้สึกพิลึกกับยุทธการกอบกู้ผีเสื้อของหนังเวอร์ชั่นใหม่ไม่น้อยทีเดียว

การหักมุมเช่นนี้ทำให้หนังเรื่องนี้แหลมคมได้อีกมาก นอกจากนั้นแล้วเรายังเลือกตอนจบได้อีกสองแบบซึ่งก็ธำรงความคลุมเครือได้อีกมากเช่นกัน

แบบแรก บแบบหนังเวอร์ชั่นเดิม คือตัวเอกสามารถเปลี่ยนแปลงอดีตได้ ซึ่งสำหรับเรื่องแล้วมันเป็นแฮปปี้เอ็นดิ้ง แต่สำหรับเรานั้นมันไม่ใช่ เพราะมันไม่ได้จบในโลกที่เราดำรงอยู่

แบบที่สองที่ผมแนะนำ คือจบแบบที่ตัวเอกเรื่องนี้ไม่สามารถแก้อดีตได้ และตอนจบก็แสดงให้เห็นภาพโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของเราที่ทุกคนดำรงชีวิตกันตามปกติ (นอกจากนั้นแล้วหนังควรจะให้คลื่นเวลานั้นเปลี่ยนแปลงโลกอันแสนสุขของบรรดาสัตว์ประหลาด ให้กลายเป็นโลกที่เราอยู่อย่างที่ละเล็กที่ละน้อยด้วย และก็ต้องให้บรรดาสัตว์ประหลาดมองการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสะพรึงกลัว) นี่อาจทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นไซไฟ ตลกร้าย ที่ทำการวิพากษ์การดำรงอยู่ของเราได้อย่างไม่เลวเลยทีเดียว

นอกจากนี้แล้วมันยังทำให้ประเด็นเด็ดที่หนังเรื่องนี้แย้มพรายออกมา (แต่ล้มเหลวที่จะนำเสนอมันอย่างเหมาะสม)ปรากฏขึ้นมาอย่างชัดเจนอีกด้วย ประเด็นดังกล่าวก็คือประเด็นเรื่องความผิดพลาด (Error) หนังเรื่องนี้เดินเรื่องด้วยการแก้ไขความผิดพลาด ซึ่งมีตรรกะเบื้องหลังอยู่ที่ความผิดพลาดเล็กๆ ในอดีตนั้นส่งผลถึงปัจจุบันได้อย่างมหาศาล ดังนั้นการที่เราจะดำรงอยู่ (Exist) เราต้องกลับไปแก้ไขความผิดพลาด (การเอาผีเสื้อกลับมา)

การจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งของหนังเวอร์ชั่นเก่าเป็นการทำให้ความผิดพลาดถูกแก้ ทำให้เรานั้นลืมไปได้ว่าความผิดพลาดนั้นอาจนำไปสู่อะไรบางอย่างที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง จนเราไม่สามารถจินตนาการได้ นั่นคือสิ่งที่เราและโลกจะกลายเป็น (will become) ซึ่งหนังไม่ได้เล่นกับตรงนี้อย่างลึกซึ้งเท่าใดนัก เพียงแต่วาดภาพอันน่าสะพรึงในความเป็นอื่น (Otherness) ของมันเท่านั้น

ถ้าความผิดพลาดไม่ถูกแก้ล่ะจะเกิดอะไรขึ้น? เมื่อเรายกคำถามตรงนี้มาแล้ว สำหรับหนังเวอร์ชั่นเก่าก็จะนำไปสู่จุดจบแบบแบดเอ็นดิ้งเท่านั้น ดังนั้นผู้เขียนจึงได้นำเสนอหนังเวอร์ชั่นใหม่ภายให้ตรรกะของหนังเวอร์ชั่นเก่า

ในตอนจบในแบบที่สองของหนังเวอร์ชั่นใหม่ที่สัตว์ประหลาดไม่สามารถแก้ใขอดีตได้ ความผิดพลาดที่ไม่ถูกแก้นั้นนำไปสู่สิ่งที่เราเป็น นำไปสู่โลกมนุษย์ที่โฮโมเซเปียนส์ครอบครอง ... และมนุษย์นั้นก็ไม่ตระหนักใดๆ ถึง ความผิดพลาดดังกล่าวของการแก้ไขอดีตของสัตว์ประหลาด

กล่าวคือในหนังเวอร์ชั่นนี้ ความผิดพลาดนั้นไม่ใช่อะไรที่จะทำให้เรานั้นกลายเป็นอะไรบางอย่าง (ซึ่งเราต้องพยายามแก้ไขมัน) แต่ทำให้อะไรบางอย่างนั้นกลายเป็นเราทั้งๆ ที่เราก็ไม่รู้

สิ่งที่หนังแย้มพรายไว้อย่างเงียบๆ ก็คือคำถามที่ว่า “ในที่สุดแล้วการดำรงอยู่ของเรานั้นก็เป็นเพียงความผิดพลาดในการแก้ไขอดีตของบางเผ่าพันธุ์หรือเปล่า?” ซึ่งประเด็นนี้หนังเวอร์ชั่นใหม่ที่ผู้เขียนกล่าวถึงได้ไว้อย่างชัดเจน

เมื่อมาถึงตรงนี้แล้วผู้เขียนในฐานะคนที่เห็นการวิจารณ์หนังในแบบลากองเนี่ยน (Lacanian Film Criticism) มามากมายในงานของชิเชค (Zizek) ก็อดจะจับหนังเรื่องนี้เข้าไปในกรอบแบบลากองไม่ได้

ภายใต้กรอบของลากองแล้ว เรานั้นมีชีวิตอยู่ในโลกที่ถูกสร้างด้วยภาษาและกฎเกณฑ์ต่างๆ (ในความหมายกว้างที่สุด) ซึ่งโลกจริงๆ ที่ภาษาและกฎเกณฑ์เข้าไปเกาะเกี่ยวนั้นเรียกว่า Real เป็นโลกที่ไม่มีการแบ่งแยกใดๆ ไม่มีการไม่ปรากฏ (Absent) ทว่าเรานั้นเข้าใจถึงการดำรงอยู่ก่อนภาษาของ Real ได้จากการที่ภาษาและกฎเกณฑ์นั้นไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งมันต้องมีสิ่งหลงเหลือจากการทำให้เป็นสัญลักษณ์ (Leftovers after Symbolization) ดังนั้นความเข้าใจเรื่องสิ่งที่หลงเหลือนี่เองที่นำไปสู่ความเข้าใจย้อนกลับไป (Retroactive) ที่ว่ามันมีอะไรที่ดำรงอยู่ก่อนระบบสัญลักษณ์

แล้วนี่มันเกี่ยวอะไรกับหนัง? เกี่ยวแน่ เพราะคลื่นการเวลาในหนังนั้นไม่ใช่อะไรเลยนอกจากการผุกร่อนของโลกในทางสัญลักษณ์ (Symbolic Universe) ของเรา โดยคลื่นลูกสุดท้ายนั้นก็ไม่ใช่อะไรเลยนอกจากการแตกดับของโลกในทางสัญลักษณ์ของเรา ... ซึ่งสิ่งที่เหลืออยู่ก็คงจะไม่เป็นอะไรนอกจากสิ่งที่ลากองเรียกว่า Real ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับ Reality ที่เรามีชีวิตอยู่ภายใต้ระบบสัญสักษณ์ (Symbolic Order) และแฟนตาซี (Fantasy) ที่คอยอุดรูโหว่ในระบบสัญลักษณ์

เราเข้าใจเหตุการณ์หลังคลื่นเวลาลูกสุดท้ายได้สองแบบ แบบแรกคือแบบโลกในหนัง สิ่งที่หลงเหลือก็ไม่ใช่อะไรนอกจาก Real สัตว์ประหลาดที่เรากลายเป็นนั้น เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ภายหลังโลกในระบบสัญลักษณ์ของเราแตกสลาย กล่าวคือไม่สามารถดำรงอยู่ด้วยกันได้กับโลกของเรา ถ้าลากองนั้นนิยาม Real ว่าเป็นสิ่งที่ต่อต้านการทำให้เป็นสัญลักษณ์ (The Real is which Resist Symbolization) แล้วสัตว์ประหลาดที่เรากลายเป็นนั้นก็คงจะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของความเป็นจริงของเรา แต่เป็นสิ่งที่อยู่ข้างนอก มุมมองของกล้องที่ค่อยๆ ซูมไปที่สัตว์ประหลาดดังกล่าวนั้น ทำให้เรารู้สึกถึงความน่าสะพรึงในความประหลาดและเป็นอื่น (Uncanny) ได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นแล้วสัตว์ประหลาดยังให้ความรู้สึกของเมือกเหนียวๆ ที่สามารถทำให้เรานั้นพรั่งพรึงอย่างหาคำบรรยายไม่ได้ ที่สำหรับลากองแล้วก็คงไม่ใช่อะไรอื่นนอกจาก Jouissance ซี่งเป็นสิ่งที่เปียกชุ่มใน Real นี่คงพอกระมังที่จะบอกว่าสัตว์ประหลาดดังกล่าวนั้นเป็น Real ในโลกของหนังโดยแท้

ในการอ่านแบบที่สองคือการอ่านแบบในโลกของเรา สัตว์ประหลาดที่เรากลายเป็นนั้นอาจเป็นแค่แฟนตาซีก็ได้ เมื่อพูดถึงแฟนตาซีในกรอบแบบลากอง เราต้องตระหนักเสนอว่าแฟนตาซีนั้นเป็นเครื่องป้องกันตัวเราไม่ให้ไปสัมผัสกับ Real แฟนตาซีนั้นไม่จำเป็นต้องสวยงามเสมอไป อาจน่าเกลียดน่ากลัวมากก็ได้? ถ้าสัตว์ประหลาดนั้นเป็นเพียงแฟนตาซีของเรา แล้วอะไรคือReal? เราอาจกล่าวได้สิ่งที่น่ากลัวกว่าการที่เรานั้นกลายเป็นสัตว์ประหลาด (จนที่ให้เราต้องมีมันเป็นแฟนตาซี) ก็คงจะเป็นการที่เราไม่มีทางจะรู้ได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น เป็นความไม่แน่นอนอย่างถึงที่สุด (Radical Contingency) เช่นเดียวกับที่นักเดินเรือนั้นจินตนาการถึงปลาหมึกยักษ์หรือสัตว์ประหลาดในทะเล เพื่อจะป้องกันเขาจากความไม่แน่นอนอย่างถึงที่สุดของท้องทะเล (หรือเราอาจอ่านได้ว่า การกลายเป็นสัตว์ประหลาดนั้นเป็นเพียงจินตนาการของพระเอก ที่มีต่อผลของคลื่นเวลาลูกสุดท้ายก็ได้)

แน่นอนว่าบทความนี้บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่าถ้าจะทำให้หนังเรื่องนี้นั้นเฉียบคมขึ้น จะต้องมีการกลับหัวกลับหางอะไรบางอย่างดังที่เสนอไป

ในทางตรงข้าม ในหนังเวอร์ชั่นใหม่ คลื่นแห่งเวลานั้นไม่ใช่อะไรอย่างอื่นเลยนอกจากการทำให้เป็นสัญลักษณ์ (Symbolization) การเข้ามาของระบบสัญลักษณ์ (โปรดสังเกตการณ์กลับกันของหน้าที่ของคลื่นเวลา) ทำให้การตอนในเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Castration) ที่จะทำให้ Juissance และ สัตว์ประหลาดนั้นหมดสิ้นไป ... และทำให้มนุษย์นั้นดำรงอยู่

การที่หนังในแบบที่สองนั้นดูจะเฉียบคมกว่าแบบแรก ก็คือการหักมุมเปลี่ยนจาก Symbolic เป็น Real ในตอนท้าย ในตอนแรกที่เราดูหนังและเอาใจช่วยสัตว์ประหลาดที่เป็นตัวเอกนั้นโลกในทางสัญลักษณ์ของเราที่อินกับหนัง คือโลกเดียวกันกับของสัตว์ประหลาดในหนัง แต่เมื่อตอนหลังพอหนังเฉลยว่าการดำรงอยู่ของเรานั้นขึ้นอยู่กับความล้มเหลวของสัตว์ประหลาดที่เป็นตัวเอกเท่านั้น เราก็พบว่าเราไม่ได้อยู่ในโลกสัญลักษณ์ของเราเอง เพราะโลกสัญลักษณ์ของสัตว์ประหลาดกับของเรานั้นเป็นคนละโลก หรือถ้ามองจากมุมมองของมนุษย์แล้ว การหักมุมของหนังมันทำให้จู่ๆ นั้น เราก็ค้นพบตัวเองอยู่ที่พื้นที่ต้องห้ามที่เป็นรูโหว่ของระบบสัญลักษณ์ (Forbidden Place of The Hole in The Symbolic Order) ของเราเองอันเป็นที่ๆ นอกระบบสัญลักษณ์ซึ่ง The Real ดำรงอยู่ ซึ่งผลก็คือมันจะทำให้เกิดความรู้สึกแบบ Sublime ขึ้นอย่างฉับพลัน รวมไปจนถึงความลังเลในการเลือกไม่ถู กว่าจะเชียร์สัตว์ประหลาด (ที่กำลังจะปกป้องเผ่าพันธุ์ตนและทำให้มนุษย์นั้นไม่ดำรงอยู่) ดีหรือไม่ดี (ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกที่เข้มข้น มากกว่าที่จะเกิดกับหนังที่เดาตอนจบออกตั้งแต่แรกนี้มาก)

นี่คงจะเป็นคำอธิบายในแบบลากองเนี่ยนว่า ทำไมหนังเวอร์ชั่นกลับหัวกลับหางถึงเป็นสิ่งที่ดูเข้าท่ากว่ายิ่งนัก อย่างน้อยๆ ก็สำหรับการเล่นกับความรู้สึกของคนดู

ประการสุดท้ายที่อยากอ่านในแบบลากองเนี่ยนในที่นี้ (จริงๆ แล้วน่าจะนำไปจับในประเด็นอื่นๆ ได้อีกมาก) ก็คือการอ่านแบบ Error as Real ซึ่งก็คือประเด็นที่ว่าความผิดพลาดนั้นจริงๆ แล้วไม่ได้คุกความการดำรงอยู่ของเรา (threaten our being) เท่านั้น แต่ความผิดพลาดดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ประกอบการดำรงอยู่ของเราขึ้นมา (constitute our being) ด้วย ตัวหนังนั้นบอกเราเป็นอย่างดีสำหรับลักษณะแรก และหนังเวอร์ชั่นใหม่ที่สร้างขึ้นมาภายใต้ตรรกะเดิมก็บอกเราเป็นอย่างที่ถึงลักษณะที่สอง ลักษณะที่ขัดแย้งกันของความผิดพลาดนี้ ต้องเอาไปเทียบกับ Real ที่การไหลเข้ามาของมันในระบบสัญลักษณ์นั้นจะเป็นการทำลายระบบสัญลักษณ์ แต่มันก็เป็นที่พึ่งแห่งสุดท้าย (Last Support) ของระบบสัญลักษณ์ ระบบสัญลักษณ์ที่ดำรงอยู่ภายให้การสร้างความแตกต่าง และการกันอะไรออกไปนั้น จำต้องดำรงอยู่คู่กับ Real อย่างเลี่ยงไม่ได้

ในหนังคลื่นเวลานั้นเป็นเส้นแบ่งระหว่าง Symbolic กับ Real ถ้ามองจากในโลกของเราแล้ว หนังแบบแรกนั้นเป็นการไหลบ่าเข้ามาในโลกของเราของ Real ที่ทำลายโลกในทางสัญลักษณ์ของเราจนสิ้น แต่หนังในแบบที่สองนั้นบอกเราในสิ่งตรงข้าม เพราะมันเป็นการบอกเราว่าโลกของเรานั้นประกอบมาด้วยการไหลบ่าของระบบสัญลักษณ์ของเรา (แต่เป็น Real ของสัตว์ประหลาด) ซึ่งเริ่มมาจากการกระทำเดียวกันกับที่ทำลายโลกของเราในหนังแบบแรก กล่าวคือด้วยการกระทำเดียวกันนั่นเองที่สร้างและทำลายระบบสัญลักษณ์ของเรา หลังจากการสร้างระบบสัญลักษณ์แล้วระบบสัญลักษณ์จึงมีรูโหว่ เช่นเดียวกับปัญหารากฐานอันนอกกฎหมายของกฎหมาย รากฐานอันไม่ชอบธรรมของความชอบธรรม ฯลฯ

เมื่อพิจารณาหนังในทั้งสองแบบแล้ว เราจะเห็นปัญหาตรงนี้ได้ค่อนข้างชัดเจนเลยทีเดียว เราอาจกล่าวได้ว่าเราดำรงอยู่ได้เพราะความผิดพลาด และในขณะเดียวกันเราก็ดำรงอยู่ได้เพราะความไม่ผิดพลาดด้วย เราต้องการความผิดพลาดพื้นฐานของหนังในแบบที่สอง และความไม่ผิดพลาด (หรือการแก้ไขความผิดพลาด) ของหนังแบบแรกเพื่อที่เราจะดำรงอยู่ ดังนั้นความผิดพลาดนั้นไม่ว่าจะเป็นแบบไหน จึงอยู่นอกระบบสัญลักษณ์เรา และเป็น Real ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ในที่สุดแล้วถ้าการอ่านแบบลากองเนี่ยนนั้นก็คงมีประโยชน์ในการเข้าใจหนังเรื่องนี้บ้างไม่มากก็น้อย ลากองเคยพูดถึงการเอาสิ่งที่นับมานับด้วย (Taking What Count into Account) การกระทำดังกล่าวนี่เองกระมัง ที่พอจะทำให้เรานั้นนึกสงสัยตรรกะในหนังแบบแรก เกี่ยวกับการดำรงอยู่ของเราบนพื้นฐานของความผิดพลาดของคนอื่นที่เราไม่รู้ ซึ่งนำมาสู่ความคิดเรื่องหนังในแบบที่สองในที่สุด

Wednesday, January 11, 2006

On the Question of the Question "What is Music": A Reply to Patrapee

อะไรคือดนตรี? คำถามนี้หาใช่ที่ข้าพเจ้าไม่เคยจะหาคำตอบ แน่นอนว่าข้าพเจ้านั้นมีคำตอบนั้นกับตนเอง ทว่าข้าพเจ้านั้นไม่สามารถจะหาคำตอบให้แก่คนอื่นๆ ได้ เพราะสำหรับข้าพเจ้าแล้ว คำตอบดังกล่าวเป็นสิ่งสัมพัทธ์ ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้มอง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ งานดนตรี ทดลอง หรือ อวองการ์ด ที่คนทั่วไปฟังแล้วก็อาจไม่นึกว่าเป็นดนตรีด้วยซ้ำไป

ทว่างานชิ้นนี้ (เดธเมทัล!: งานเกี่ยวกับประเภทดนตรีเวอร์ชั่นทดลอง) เป็นการพยายามสร้างทฤษฎีโดยทั่วไปเกี่ยวกับการแบ่งแยกประเภทดนตรี จากประสบการณ์การอ่านบทวิจารณ์และสนทนากับผู้เกี่ยวข้องต่างๆ โดยเริ่มจากแนวดนตรีที่ข้าพเจ้ามีความคุ้นเคยเป็นเวลาหลายปี ซึ่งการสร้างทฤษฎีดังกล่าวนั้นหวังผลทางการปฏิบัติ กล่าวคือ หาคำตอบที่ครอบคลุมที่สุดให้กับคำถามที่ว่า "แนวดนตรีหนึ่งๆ นั้นคืออะไร" เพราะ ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะคิดว่า สิ่งไดๆก็ตามนั้นมันจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับจากที่คนนั้นจะไปเรียกมันอย่างนั้น แม้ว่าการเรียกดังกล่าวนั้น อาจมีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้วก็ตาม ข้าพเจ้าคิดว่าในแวดวงที่จำกัดนั้น เราอาจหากฏเกณฑ์โดยคร่าวๆ กับการเรียกดังกล่าวได้ กล่าวคือเป็นการสรุปกฏเกณฑ์โดยทั่วไปของสิ่งที่ปรากฏแบบมีกรอบ เพราะ หากเรารวมการใช้ทั้งหมดที่เป็นไปได้แล้ว เราก็คงจะไม่พ้น นิยามที่ว่า ใดๆ ก็แล้วแต่มันจะเป็นเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับการที่คนเรียกมัน

เดธเมทัลนั้นเป็นสิ่งที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่มอยู่แล้ว การใช้โดยทั่วไปจึงไม่เป็นที่หลากหลายนัก พอจะมีจุดร่วมกันและศึกษาได้ ... ทว่าคำว่าดนตรีนั้นเป็นที่ใช้กันทั่วไป และ หลากหลาย ถ้าจะพยายามรวบยอดความหมายแล้ว ผลที่ตามมาก็ คงจะเป็นว่า ทุกอย่างก็คงเป็นดนตรี คล้ายกับที่นักประพันธ์ John Cage นั้นกล่าวว่า "ทุกสิ่งที่เราทำก็คือดนตรี" แต่เอาเข้าจริงแล้วนั่นแทบจะไม่บอกอะไรกับเราเลยอย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งมองในแง่หนึ่งแล้ว มันก็เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับบทเพลงแห่งความเงียบนาม 4'33" ของเขาที่ผู้เล่นนั้นต้องนั่นนิ่งหน้าเปียโนนาน 4 นาที 33 วินาทีอย่างพอดิบพอดี

อาจเป็นได้ว่านี่เกียวข้องอะไรกับเซนที่ Cage นั้นนับถือ แต่ถ้าตัดตรงนั้นออกไปแล้วพิจารณานั้นในฐานะเสียงดนตรีแล้ว ก็คงต้องสรุปว่าอะไรมันก็คงเป็นดนตรีไปหมดจริงๆ นั่นเหลาะ เพราะ "ความเงียบ" นั้นก็ยังเป็นดนตรีเลย อย่าว่าแต่ เสียงลม ก้อนหิน หรือ ท่อไอเสียเลย ไม่แปลกเลยที่นักดนตรีทดลองมากมายนับถือ John Cage มากเพราะ เขานั้นได้สร้างพื้นที่ทางดนตรีให้กับการสร้างสรรค์ทางเสียงทุกอย่าง

แต่นี่ก็คงจะไม่ใช่ความเห็นของคนทั่วไปเพราะ ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปนั้นก็คงไม่เห็นว่า การเอาหวีมาครูดไมโครโฟน การนั่งนิ่งหน้าเปียใน การทำเสียงแปลกๆ หรือ กระทั่งเดธเมทัล นั้นเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ดนตรี” ข้าพเจ้าไม่สามารถบังคับให้พวกเขานั้นเห็นในสิ่งที่ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นดนตรีเป็นดนตรีได้ ข้าพเจ้าได้แต่เพียงบอกว่ามันมีคนกลุ่มหนึ่งในโลกนะที่เห็นสิ่งที่พวกนี้เป็นดนตรี ซึ่งนั่นเป็นเหตุที่ข้าพเจ้านั้นคงจะไม่เขียนบทความว่า อะไรคือ ดนตรี ในแง่ที่ว่าอะไรคือ ดนตรีสำหรับทุกคน ข้าพเจ้ายังต่อต้านการบอกว่าดนตรีนั้นเป็นภาษาสากล เพราะ ถ้านิยามอย่างนั้นออกไปแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ ว่า อะไรไม่ใช่ ภาษาสากลนั้นไม่ใช่ดนตรี ซึ่งผู้ที่จะไม่ใช่ดนตรีพวกแรกๆ นั้นก็คือ พวกดนตรีชายขอบที่มีความเฉพาะ เจาะจง มากๆ ส่วนพวกที่จะยังเป็นดนตรีได้อย่างรอดปลอดภัยก็คือ พวก เวิร์ลดมิวสิก (World Music) ที่โดยทั่วๆ ไปแล้วพยายามทำเพลงให้ผู้คนทุกมุกโลกนั้นฟังอยู่แล้ว

ดังนั้นการนิยามว่าอะไรคือดนตรีนั้น เป็นการเข้าไปยื้อแย่งในการนิยามความเป็นดนตรี ถ้าจะกล่าวแบบฟูโกต์เดียนเก๊ให้ทันสมัยหน่อยก็คือ การพยายามสถาปนาวาทกรรมดนตรีของตนให้เป็นวาทกรรมหลัก ซึ่งข้าพเจ้านั้นไม่ต้องการจะเข้ายึดอำนาจส่วนกลางอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการการยอมรับในการดำรงอยู่เท่านั้น (ฟังดูเป็นการเมืองหลังสมัยใหม่สิ้นดีเลยให้ตายสิ)

เมื่อ คำถามดังกล่าวนั้นสร้างปัญหามาก ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าแต่ละคนนั้นก็ควรจะตอบตัวเองจึงเป็นการดีที่สุด ว่าดนตรี คือ อะไร ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบนั้นอาจนำไปสูโลกทัศน์และปฏิบัติการทางดนตรีที่ต่างกัน อย่างไรก็ดีบทความนี้ดูจะเป็นงานที่กลุ่มเป้าหมายนั้นเป็นนักวิจารณ์มากกว่าคนที่ไม่เข้าใจและไม่ได้ทำการแบ่งประเภททางดนตรีบ่อยๆ เพราะ ผมอยากจะถามนักวิจารณ์ ทั้งหลาย เหลือเกินว่า ไอ้การที่คุณนั้นแบ่งประเภทว่าอะไรเป็นแบล็ค เดธ พาวเวอร์ ดูม โกธิค สโตเนอร์ โปรเกรสซีฟ ฯลฯ นั้นคุณมีเกณฑ์อะไร หรือ มันก็แค่การเรียกตามๆ กันมา ที่คุณไม่เคยตั้งคำถามกับมันเลย

อย่างที่ผมน่าจะเขียนไว้ในงานผมบางชิ้นแล้วว่าการจัดประเภทดนตรีเมทัลนั้นเป็นเรื่องน่าศึกษา เพราะความรู้นั้นมันไม่ได้ออกมาจากสถาบันทางวิชาการอย่างการจัดประเภทเพลงคลาสสิก (หรือ ถ้าออกมาก็คงแทบไม่มีใครสนใจเท่าไร) หรือ การจัดประเภทวรรณกรรมที่มีสถาบันการศึกษาหนุนหลัง (ที่คุณพีรพัฒน์เคยถามผมว่า “เรื่องสั้นคืออะไร” นั้นผมก็ว่ามันก็มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดประเภทดนตรีของผม ) การแข่งนั้นเท่าที่ผมรู้แล้วโดยทั่วไปมันก็ไม่มีการแข่งเมทัลอย่างแยกประเภท (ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาอย่าง “สรุปว่ามะหมี่นั้นเป็น นักแสดงสมทบ หรือ แสดงนำ” อย่างกรณีของรางวัลสุพรรณหงส์) การแบ่งประเภทดนตรีเมทัลนั้นจึงเกิดจากการบวนการจัดประเภทของมือสมัครเล่น หรือ มืออาชีพก็ตามแต่ ที่ไม่มีวุฒิทางการศึกษาทางนี้มาโดยตรงทั้งสิ้น (เพราะมันไม่มีการศึกษา)

มาตรงนี้แล้วคำถามของผมก็อย่างที่กล่าวคือ ว่าในเมื่อมันไร้ศูนย์กลางและไร้ระเบียบเช่นนี้ แต่คนนั้นก็สื่อสารกันและมีความเข้าใจร่วมกันได้ ดังนั้นมันน่าจะมีกฎเกณฑ์บางอย่างอยู่ มันจึงบังเกิดมาเป็นบทความนี้ ซึ่งปัญหาว่าดนตรีคืออะไรนั้น ผมก็คงจะตอบสั้นๆ ว่าอะไรที่ผมคิดว่าเป็นมันก็เป็นสำหรับผม เมื่อก่อนผมชอบฟังเสียงเครื่องรถเมล์ตอนนั่ง มันก็คงจะเป็นดนตรีสำหรับผมกระมัง แต่เอาข้าจริงแล้วผมก็ไม่เคยคิดว่ามันเป็นดนตรี เช่นเดียวกับงานทุกชิ้นที่ผมฟัง เพราะผมคิดว่า ไอ้คำว่าดนตรีนั้นมันไม่จำเป็นแม้แต่นิดสำหรับการสื่อสารกับตัวผมเอง ผมพยายามรับรู้เสียงต่างๆ และอารมณ์ของมัน ก็เท่านั้น ผมพยายามรับรู้สุนทรียะของเสียงโดยที่ผมไม่จำเป็นต้องใช้คอนเซ็ปต์ดนตรีด้วยซ้ำไป แต่แน่นอนเวลาผมพูดกับคนอื่นผมก็ต้องใช้คำว่าดนตรีบ้าง แต่ก็ใช้หลวมๆ ตามที่ชาวบ้านเขาใช้กัน ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก เพราะ ถึงผมจะไม่คิดว่ามนุษย์นั้นจำต้องเป็นสัตว์สังคม แต่ผมคงไม่ใช่ข้อยกเว้น ดังนั้นการเข้ามาอยู่ในสังคมแล้วมันก็คงต้องมีบ้างที่เรานั้นจะใช้คำต่างๆ เพียงเพราะว่า “เขาเรียกกันมาอย่างนั้น” หรือ “ใครๆเขาก็เรียกกัน” นี่เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้อย่างน้อยก็ในกรอบคิดแบบ Zizekian ของผม และ ผมก็คิดว่าในแง่หนึ่งแล้วมันก็เปล่าประโยชน์ที่จะหาคำตอบของคำถามว่า ดนตรีคืออะไร จากการใช้เพราะมันหลากหลายอย่างที่บอก และ ก็ยากที่จะหาคนที่มีนิยามอย่างหนักแน่นในการใช้คำว่าดนตรี หรือ ถึงมีมันก็คงจะเป็นเรื่องที่เฉพาะตัว หรือ เฉพาะกลุ่มเป็นอย่างยิ่ง เช่นในกรณีของ John Cage

นี่กระมังที่ทำให้ผมไม่เขียนบทความถึงความเป็นดนตรี

Monday, December 19, 2005

เดธเมทัล!: งานเกี่ยวกับประเภทดนตรีเวอร์ชั่นทดลอง

…ว่ากันว่าวงดนตรี ดิ อีเกิลส์ออฟเดธเมทัล (The Eagles of Death Metal) นั้นได้ความคิดเกี่ยวกับชื่อวงของตนมาจากบทสนทนาของ เจสซี่ ฮิวจ์ (Jesse Hughes) ผู้นำวง กับคนเมาผู้หนึ่งซึ่งพยายามจะเถียงว่าวงดนตรี พอยซั่น (Poison) นั้นเป็นเดธเมทัล (Death Metal) หลังจากฮิวจ์ได้ยินดังนั้นก็บอกกับคนเมาว่าถ้าอย่างนั้น วงพอยซั่นนั้นก็คงเป็นวง ดิ อีเกิลส์ (The Eagles) แห่งวงการเดธเมทัลกระมัง หลังจากนั้น เพื่อนของฮิวจ์ จอช ฮอมม์ (Josh Homme) ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการสโตเนอร์ร็อค (ซึ่งเป็นสมาชิกวงดิ อีเกิลส์ออฟเดธเมทัลด้วย) นั้นก็ได้พยายามจริงจังจังกับแนวคิดดังกล่าวและพยายามผลักดันงานดนตรีดนตรีที่ราวกับว่าเป็นดิ อีเกิลส์ผสมผสาน กับเดธเมทัลออกมา และในที่สุดผลงานของ ดิ อีเกิลส์ออฟเดธเมทัลก็ออกมา

...เมื่อฟังจากคำวิจารณ์ (ขอโทษที่ผมยังหาฟังไม่ได้ แต่ก็พอคาดเดาความถูกต้องของคำวิจารณ์จากพื้นเพของสมาชิกวงได้) ดนตรีของดิ อีเกิลออฟเดธเมทัลนั้น ไม่มีอะไรเกี่ยวของกับเดธเมทัลเลยนอกจากชื่อ เพราะ ถ้าจะจัดประเภทอย่างหยาบๆ แล้วดนตรีของวงนี้น่าจะจัดอยู่ในพวกการาจร็อค (Garage Rock) มากกว่า…

... นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คำว่าเดธเมทัลมันเข้าไปปรากฏที่สิ่งที่ไม่ใช่อย่างที่เราๆ รู้จักกันทุกวันนี้เดธเมทัล

ในปี 1984 มีอัลบั้มอัลบั้มรวมเพลงชื่นว่า Death Metal ออกมาซึ่งในนั้นมีวงงานของวง เฮลโลวีน (Helloween), รันนิ่งไวล์ด(Running Wild), เฮลแฮมเมอร์ (Hellhammer), ดาร์คอเวนเจอร์ (Dark Avenger) ซึ่งเมื่อดูจากชื่อวงและปีที่ออกก็คงจะพอเดาได้ว่างานเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ปัจจุบันนี้เราเรียกกันว่า เดธเมทัลอย่างแน่นอน แต่วงที่อาจมีความเกี่ยวโยงอย่างใกล้เคียงที่สุด ก็คงจะเป็นวง เฮลแฮมเมอร์ ที่กลายมาเป็น เซลติกฟรอสต์ (Celtic Frost) อันเป็นหนึ่งในวงที่ถือกันว่าเป็นต้นกำเนิดเดธเมทัลในเวลาต่อมา (แต่ตอนนั้นก็ถูกจัดเป็นพวกสปีด/แทรชเช่นเดี่ยวกับพวกเอ็กซ์ตรีมเมทัลในยุคนั้น)

ในปี 1985 อัลบั้ม Seven Churches ของ โพสเซสด์ (Possessed) มีเพลงชื่อ Death Metal เป็นเพลงสุดท้าย ดนตรีของวงนี้ก็ค่อนข้างจะมีความหนักหน่วงรวดเร็วกว่าวงประเภทสปีด/แทรชทั่วๆไป ซึ่งผนวกกับเสียงร้องที่ค่อนข้างจะเป็นการตะโกนอย่างกระด้าง (แต่ยังไม่ใช่การสำรอก) และ เนื้อหาหาที่มีกลิ่นคาวเลือดและ ผีห่าซาตานอยู่คละคลุ้ง ก็เป็นที่ไม่ยากเลยที่คนหลายๆ คนนั้นจะมองอัลบั้มนี้ว่าเป็นเดธเมทัลแล้ว หรือ กระทั่งเป็นเดธเมทัลชุดแรก ซึ่งก็เป็นความเห็นที่หลายๆคนไม่เห็นด้วย จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่า สรุปว่างานชิ้นนี้เป็นเดธเมทัลใช่หรือไม่ หรือว่างานชิ้นนี้ยังอยู่ในกระแสสปีด/แทรชเมทัลในยุคนั้น ถ้าจะพูดในอีกแบบแล้วคำถามก็คือว่า สรุปว่างานชุดนี้เป็น สปีดแทรชที่หนักกว่าปกติ หรือ เป็นเดธที่เบากว่าปกติ?

ไม่ว่าจะมีการถกเถียงว่าเดธเมทัลนั้นมีจุดเริ่มตรงไหน? จุดไหนที่ความเป็นเดธที่ต่างจากสปีด/แทรชที่เป็นบรรพบุรุษของมันได้ถือกำเนิดขึ้นมา? จุดอย่างอิงที่เราแทบจะไม่ต้องเถียงกันว่า ณ จุดนี้เดธเกิดขึ้นมาแล้วก็คืองานชุดแรกอย่างเป็นทางการของวงเมทัลนามว่า เดธ (Death) ของชัค ชูลดิเนอร์ (Chuck Schuldiner) ผู้ล่วงลับ ชื่อของงานชุดนั้นคือ Scream Bloody Gore ซึ่งออกในปี 1987 ซึ่ง ณ จุดนั้นก็เป็นจุดที่เห็นชอบกันอย่างทั่วไปว่าเดธเมทัลเกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ กล่าวคือไม่ว่างานก่อนงานชิ้นนี้ของวงอื่นๆ จะเป็นเดธหรือไม่ใช่ แต่งานชุดแรกของวงเดธนั้นเป็นเดธเมทัลแน่ๆ

และแล้ว ชัคนั้นก็ได้กลายมาเป็น เจ้าพ่อเดธเมทัล ทว่าก็มีการรายงานว่า จีน ฮอกแลน(Gene Hoglan) (มือกลองเมทัลในตำนานอีกคนที่เคยร่วมงานกับชัคในงานสองอัลบั้มของเดธ) นั้นกล่าวว่า ตัวชัคเองนั้นไม่เคยชอบเลยที่ถูกเรียกว่า เจ้าพ่อเดธเมทัล เพราะสิ่งที่ชัคนั้นเห็นว่าตัวเองเล่นอยู่เล่นมันก็เป็นเพียงเมทัลเท่านั้น

... ซึ่งก็ไม่แปลกที่ตัวคนมีความคิดสร้างอย่างชัคจะไม่ชอบในการถูกเรียกเช่นนั้น เพราะดูจากสิ่งที่ชัคนั้นทำในยุคหลังๆแล้วจะรู้สึกว่า คำว่าเจ้าพ่อเดธนั้นเป็นคำที่จะดูเหมาะสมกับชัคที่ผลิตงานของเดธในชุดแรกๆ เท่านั้น เพราะสิ่งที่ชัคทำในยุคหลังๆ นั้นดูจะเกินกว่าคำว่าเดธเมทัลไปลิบ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ลองไปฟังคอนโทรส ดีไนด์ (Control Denied) ซึ่งเป็นไซด์โปรเจคของชัคดู แล้วคุณก็จะเห็นได้ชัดว่าถ้าดัดเสียงร้องของชัคออกไป และเอาเสียงร้องแบบคลีนโทนเข้มๆ ที่คล้ายๆกับเสียงของวอร์เรล เดน (Warrel Dane) ในงานของเนเวอร์มอร์ (Nevermore) มาใส่ในดนตรีของเดธยุคหลังๆ แล้วเราก็จะไม่มีความรู้สึกว่างานมันมีความเป็นเดธอยู่เลย เพราะสิ่งสุดท้ายที่งานของวงเดธนั้นมีความเป็นเดธเมทัลอย่างที่เข้าใจกันทั่วๆ ไปก็คงจะเป็นเพียงแค่เสียงร้องของชัคนั่นเอง

ทั้งๆ ที่เจ้าพ่อเดธปฏิเสธความเป็นเดธของตน และทั้งๆที่บรรดาคำถามอย่าง เดธเมทัลนั้นตืออะไร? มีคุณสมบัติอะไร? นั้นดูจะเป็นสิ่งที่จะหาคำอธิบายแบบรวบยอดอันเป็นฉันทามติที่ทำให้ทุกๆฝ่ายพึงพอใจได้อย่างยากเย็นแสนเข็ญเช่นเดียวกับการหาแก่นสารของแนวดนตรีอื่นๆ ... ผู้คนที่มีความสนิทชิดเชื้อกับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเดธเมทัลก็พอจะรู้ว่าอะไรเป็นเดธเมทัลและ อะไรไม่เป็นและก็สามารถสื่อสารกันได้

ผมเป็นคนหนึ่งที่เคยหันกลับมาถามตัวเองว่าทำไมการจัดประเภทว่าดนตรีอยู่แนวไหนแนวไหน นั้นยังเป็นสิ่งที่เป็นไปได้และเราก็สามารถจะมีความเข้าใจร่วมกันในชุมชนคนฟังเพลงหนื่งๆ ทั้งๆ ที่การบอกคุณสมบัติหรือนิยามของดนตรีแนวหนึ่งๆ นั้นเป็นสิ่งที่ยากเย็นแสนเข็ญ และแม้จะพยายามทำมันออกมาก็จะมีข้อโต้แย้งถึงคุณสมบัติบางอย่างอันเฉพาะเจาะจงเกินไปที่จะทำให้นิยามของแนวดนตรีดังกล่าวไม่สามารถอธิบายการที่ทั่วๆไปเรานั้นจัดวงดนตรีบางวงอยู่ในแนวนั้นๆได้ จนในท้ายที่สุดก็จะเหลือเพียงนิยามที่เป็นนามธรรมมากเกินไปจนไปครอบคลุมแนวอื่นๆ ด้วย ก็จะพอสรุปได้ว่าไม่ว่าเราจะนิยามมันอย่างไร มันก็จะแคบเกินไป หรือไม่ก็ กว้างเกินไป ไม่สามารถนิยามให้พอดีได้โดยที่ทุกๆ ฝ่ายพอใจ

ผมเคยพูดถึงความไร้ศูนย์กลางของความรู้ในการจัดประเภทดนตรีไปแล้วในบทความของผม และผมเคยแก้ปัญหาพวกนี้ด้วยทฤษฎีในแบบลากองเนี่ยน (Lacanian) ด้วยการประยุกต์ใช้กรอบการอธิบายเรื่อง Symbolic กับ Real กับความเป็นไปไม่ได้ในการนิยามแนวดนตรีแบบรวบยอด ณ ที่อื่นแล้วจึงจะไม่ขอกล่าวซ้ำในที่นี้

แต่ ณ ตรงนี้ ผมซึ่งเริ่มจากข้อสรุปดังกล่าว ก็อยากมีคำตอบให้กับตัวเองที่มากกว่าคำอธิบายที่ว่า วงดนตรีหนึ่งๆ เป็นแนวนั้นๆ เพราะเขาเรียกกันว่าอย่างนั้น ถ้าเป็นเพียงเช่นนั้น ผมและคนอื่นๆ จะสามารถแยกประเภทวงดนตรีใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้เคยได้ยินใครแบ่งแนวมาก่อนได้เหมือนกัน และเห็นด้วยกันได้อย่างไร? หรือว่ามันยังมีกฏเกณฑ์บางอย่างในการจัดประเภทแนวอยู่แม้ว่าการหาคำอธิบายรวบยอดจะล้มเหลวก็ตาม? มันจึงมีบทความนี้ขึ้นมา เป็นกรณีศึกษา ที่อาจจะทำให้เห็นปัญหาได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งสิ่งที่ผมเลือกมาก็เป็นสิ่งที่ผมมีความถนัดเป็นระดับหนึ่งก็คือ เดธเมทัล


เดธเมทัลในฐานะของลักษณะร่วมของวงเกรดบี

มาถึงตรงนี้มันก็คงจะตลกถ้าผมจะนิยามว่าเดธเมทัลคืออะไร แต่ผมก็คงจะต้องทำอย่างเสียไม่ได้ ณ ที่นี้ อะไรคือเดธเมทัล? คำตอบทั่วๆไปของคำถามนี้ก็คือ ดนตรีที่มีเสียงสำรอก ไลน์กีต้าร์และเบสแบบปั่นกระฉูด ไลน์กลองแบบบลาสต์บีต (ที่หลายๆคนว่าเหมือนประทัดตรุษจีน) และ มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ความตาย, ภูตผีปีศาจ, ซาตาน และ การควักไส้ ซึ่งการให้ภาพเช่นนี้ ผมคิดว่าเป็นการให้ภาพของพวกที่เรียกว่าวงเกรดบีได้เป็นอย่างดี เพราะผมก็เห็นด้วยในระดับหนึ่งกับการใช้นำยามอย่างนี้กับวงเดธเกรดบีทั่วๆ ไป เพราะ ถึงนิยามดังกล่าวจะไม่บอกอะไรเราอย่างเฉพาะเจาะจงมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีวงเดธส่วนหนึ่งสามารถถูกนิยามได้ด้วยสิ่งพวกนั้นจริงๆ อย่างที่นิยามเหล่านั้นจะไม่สร้างความสับสนและไม่ไปกินอาณาบริเวณของแนวอื่นๆ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่แปลกอะไรกับแนวดนตรีที่อิ่มตัวแล้ว เพราะอาการที่เราจะพบว่าถ้าเอาวงมาสิบวงแล้วจะพบว่าวงนั้นเหมือนกันสักเก้าวงนั้นก็เป็นสิ่งปกติของแนวดนตรีหนึ่งๆ ในช่วงที่มันอิ่มตัวอย่างเต็มที่แล้ว ฉะนั้นผมไม่มีปัญหาอะไรกับคำอธิบายความเป็นเดธเมทัลดังกล่าวกับวงเดธดาษๆ เก้าวงเหล่านั้น เพราะ นั่นเป็นสิ่งที่แทบจะไม่ต้องเถียงกันแล้ว และ นี่กระมังที่จะทำให้ผมสามารถแยกแยะวงได้ว่าอะไรเป็นเดธ หรือ ไม่เป็น

แม้ว่าผมจะไม่มีปัญหากับไอ้พวกเก้าวงดังกล่าวเท่าใดนัก แต่คำอธิบายแบบเหมารวมดังกล่าวที่ใช้กับวงเกรดบีนั้น ไม่สามารถใช้กับวงเกรดเอหลายวงได้โดยสิ้นเชิง เพราะ คุณสมบัติบางอย่างที่มันอยู่นอกนิยามอย่างเหมารวมนั่นเองที่ทำให้วงพวกนั้นโดดเด่นขึ้นมาเป็นเกรดเอ ตรงนี้เราอาจกล่าวได้ว่า วงดนตรีเหล่านี้มีความเป็นเดธเมทัลในส่วนที่เป็นคุณสมบัติที่เหมือนกับวงเกรดบีทั่วๆไป และ มีคุณสมบัติของแนวอื่นๆ มาเจือ ผมก็ไม่เถียง แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า ถ้าเราคิดว่าความเป็นเดธเมทัลคือคุณสมบัติร่วมของวงเดธเกรดบีทั่วๆไปแล้ว ผมคิดว่าเดธเมทัล (และดนตรีแนวอื่นๆ) นั้นเป็นสิ่งที่มีความน่าเบื่อมากๆ เพราะ ความเป็นตัวมันก็คือความเป็นวงเกรดบีที่อาจมีไม่รู้กีพันกี่หมื่นวงในโลก มาถึงตรงนี้ผมจึงเคยกล่าวว่ามาตรที่เราจะสามารถวัดว่าคนนั้นชอบแนวดนตรีไหนๆ จริงหรือ เปล่านั้นอยู่ที่ว่าเขาชอบวงเกรดบีในแนวนั้นหรือเปล่า

ถ้าเรานิยามแนวดนตรีหนึ่งๆ ที่ลักษณะร่วมของวงเกรดบีแล้วทุกอย่างก็จะจบลงด้วยดีอย่างชัดเจนเพราะ ถ้าพูดเช่นนั้น วงเกรดเอก็เป็นเพียงแค่วงเกรดบีที่นำสิ่งอื่นๆ มาเจือปน แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าวงเกรดบีนั้นเป็นสิ่งที่คนทั่วๆไปไม่ฟังกัน เพราะวงดังๆ ส่วนใหญ่นั้นก็น่าจะถูกจัดเป็นวงเกรดเอ และ เมื่อคนนั้นฟังพวกวงเกรดเอจำนวนหนึ่งแล้วเหมารวมว่าลักษณะทั้งหมดของพวกวงเกรดเอนั้นเป็นลักษณะของเดธเมทัล ปัญหามันก็จะโผล่มาพอดี เพราะคนนั้นไม่มีความรู้เกี่ยวกับความเป็นเดธเมทัลที่จะหาได้โดยลักษณะโดยรวมของพวกวงเกรดบี ดังนั้นเขาจึงเหมาเอาว่าไอ้ลักษณะที่ทำให้วงเกรดเอนั้นต่างจากวงเกรดบีนั้นเป็นลักษณะของเดธเมทัลด้วย ซึ่งถ้าอธิบายในกรอบนี้แล้วมันเป็นเรื่องที่ผิดโดยสิ้นเชิง

กรณีนี้ก็อย่างเช่นการที่คนนั้นมองวงส่วนประกอบของดนตรีของไซนิก (Cynic) ว่าเป็นเดธเมทัลทั้งหมด ซึ่งตรงนี้ค่อนข้างชัดเจนว่ามันไม่ใช่ เพราะส่วนประกอบอย่างคอร์ดหลายตัวโน้ต การใช้ซินธ์ เสียงร้องคลีนโทน โครงสร้างเพลงอันซับซ้อนฯลฯ ของไซนิกนั้นพอจะสามารระบุที่มาของแนวได้ว่ามาจากแนวอื่นๆ เช่น แจซ หรือ โปรเกรสซีฟ (การใช้คอร์ดที่เพิ่มตัวโน้ตนั้นเป็นลักษณะทั่วไปของแจซ โครงสร้างเพลงที่ซับซ้อนเป็นลักษณะทั่วไปของโปรเกรสซีฟ เป็นต้น)

แต่ในกรณีที่สามารถระบุแนวได้ยาก เพราะ ความเป็นเอกลักษณ์มากของมันอาจทำให้เกิดปัญหาในภายหลัง สำหรับกรณีนี้ขอยกตัวอย่างวง โอบิทัวรี่ (Obituary) ที่พึงออกอัลบั้มใหม่นาม Frozen in Time (2005) หลังจากเงียบไปราวสิบปี โอบิทัวรี่นั้นมีชื่อเสียงโดดเด่นในฐานะที่เป็นวงเดธรุ่นบุกเบิกจากฟลอริดาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวหลายอย่าง แต่ที่ดูจะเป็นเอกลักษณ์ที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ เสียงร้องของ จอห์น ทาร์ดี (John Tardy) ที่เรียกว่าสำรอกได้อย่างถึงใจมาก ถึงขนาดโปรดิวเซอร์เดธในตัวนานอย่างสกอต เบิร์น (Scott Burn) ได้ยินครั้งแรกก็ถึงกับอึ้งไปเลย เสียงของ จอห์น ทาร์ดีนั้นไม่เหมือนนักร้องเดธทั่วๆ ไป (ซึ่งผมก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่ามันทำอย่างไร) หากแต่ว่าไปละม้ายคล้ายกับเสียงของ แมกซ์ คาวาเลรา (Max Cavalera) อดีตกระบอกเสียงของวงชื่อดังแห่งบราซิลอย่าง เซปัลทูร่า (Sepultura) ในงานชุดหลังๆ ตั้งแต่ Chaos A.D. เป็นต้นมา จนถึงตอนที่แม็กซ์แยกตัวมาทำวง โซลฟลาย (Soulfly)

เป็นที่รู้กันว่า แม็กซ์ นั้นเป็นผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในวงการนิวเมทัล (Nu Metal) ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนส่วนหนึ่งในวงการนิวเมทัลนั้นพยายามจะเลียนแบบเสียงสำรอกของ แม็กซ์ เมื่อถึงตรงนี้ก็คงพอจะเห็นความเป็นไปได้ของเสียงสำรอกของนักร้องนำวงนิวเมทัลบางวงที่อาจไปคล้ายคลึงกับเสียงของจอห์น ทาร์ดี ในงานของโอบิทัวรี่ ซึ่งถ้าคนฟังนั้นเข้าใจว่า เสียงร้องของจอห์น ทาร์ดี นั้นเป็นเสียงร้องที่สามารถเป็นตัวแทนของเดธเมทัลทั้งก้อนได้ เขาก็อาจเข้าใจว่าวงนิวเมทัลดาษๆ วงหนึ่งที่บังเอิญพยายามร้องเสียงแบบ แม็กซ์ นั้นเป็นวงเดธเมทัลทั้งๆ ที่วงนิวเมทัลดังกล่าวนั้นไม่ได้มีคุณลักษณะอะไรที่เหมืองวงเดธเกรดบีทั่วๆ ไปเลย

เช่นเดียวกันที่ผู้เขียนเคยเถียงกับคนว่า ซิลลี่ฟูล ชุดไอคิว180 นั้นไม่ใช่เดธเมทัลและ แทบจะไม่มีอะไรที่เป็นเดธเมทัลในนั้นเลย เพราะ ทั้งดนตรีและเสียงร้องนั้นมันต่างจากเดธเมทัลในความหมายทั่วไปมาก ซึ่งในกรอบนี้ก็ต้องบอกว่าต่างจากวงเดธเกรดบีมาก หากเราขืนเรียกซิลลี่ฟูลว่าเดธเมทัล ก็มีหวังเราจะสร้างความสับสนใด้อีกเป็นขโยง ซึ่งผมจะไม่แปลกใจเลยถ้าการที่สื่อนั้นเริ่มเรียกซิลลี่ฟูลว่าเดธเมทัล จะทำให้เด็กวัยรุ่นทั่วๆไปเห็นวงไหนที่มีการตะโกนหน่อยว่าเป็นเดธไปหมด (แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็คือคนไทยนั้นชอบเรียกนิวเมทัลว่า ฮาร์ดคอร์ ทั้งๆ ที่มันแทบจะไม่มีอะไรฮาร์ดคอร์ในความหมายแบบตอนต้นยุค 80 เลย และสายการพัฒนาดนตรีนั้นก็ไม่ได้ใกล้เคียงกันเท่าไรด้วย ซึ่งปัญหามันจะน้อยกว่านี้ถ้าฮาร์ดคอร์พันธุ์เก่านั้นได้ศูนย์พันธุ์ลงไปแล้ว แต่มันก็ไม่แถมล่าสุดมันพึ่งเอาเชื้อเมทัลไปผสมแล้วออกมาเป็นเมทัลคอร์ [Metalcore] สร้างความสับสนให้เกิดขึ้งกับเส้นแบ่งที่เกิดขึ้นระหว่างสองแนวเป็นเวลายี่สิบกว่าปียิ่งนัก)






สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างให้เห็นเล็กๆ น้อยๆ ก็เกี่ยวกับปัญหาของการเหมาเอาคุณลักษณะที่ไม่เกี่ยวอะไรกับแนวดนตรีหนึ่งๆ เข้าไปในแนวดนตรีหนึ่งๆ ในกรอบคำอธิบายแนวแบบลักษณะร่วมของวงเกรดบีซึ่งจะว่าไปแล้วคำอธิบายอย่างนี้ก็มีปัญหาน้อยอยู่เช่นกันเว้นเสียแต่ว่าเราจะเรียกวงที่เราเคยเรียกว่าเดธเมทัลว่าเดธเมทัลไม่เต็มปากเท่านั้น เช่น เราอาจต้องเรียกงานของ เดธ (Death) ชุดหลังๆ และ งานของไซนิกว่า โปรเกรสซีฟเดธเมทัล หรือชื่ออื่นๆที่ละเอียดกว่านี้ เรียก โอบิทัวรี่ว่า เดธที่มีเสียงร้องเป็นเอกลักษณ์ เป็นต้น อาจจะยุ่งยากหน่อยแต่ก็จะมีความชัดเจนขึ้นเยอะ ซึ่งคำแนะนำของผมเป็นคำแนะนำสำหรับทุกคนที่ต้องการสื่อสารอย่างไม่สับสน ไม่ใช่เพียงแต่เป็นคำแนะนำสำหรับนักวิจารณ์เท่านั้น

ปัญหาตอนนี้ของผมคือว่าถ้าทฤษฎีนี้มันได้ผล มันจะหมายความว่าการที่ผมใช้ลากองมาอธิบายเรื่องการจัดประเภทก่อนหน้านี้นั้นพังพินาศไปโดยสิ้นเชิงหรือเปล่า? ผมว่าไม่เพราะคำอธิบายแบบลากองนั้นเป็นคำอธิบายที่ไม่มีกรอบของสิ่งที่อธิบาย กล่าวก็พยายามหาจุดร่วมของความเป็นเดธเมทัลในโลกที่เป็นไปได้ทั้งหมด (all possible worlds) แล้วมันไม่มี ส่วนที่ผมพึ่งเสนอไปเป็นการตีกรอบว่าอะไรใช่เดธเมทัลและอะไรไม่ใช่ และลองพยายามจะจัดการกับปัญหาต่างๆ เวลานำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ และก็ไม่ได้หมายความว่า เดธเมทัลสำหรับทุกคนนั้นจะเป็นเดธเมทัลสำหรับวิธีคิดแบบนี้

ดังนั้นสิ่งทั้งสองนั้นจึงเป็นการตอบปัญหาที่ต่างกันกล่าวคือ อย่างแรก นั้นพยายามจะหาคุณลักษณะร่วมของสิ่งที่เรียกว่าเดธเมทัลทั้งหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งก็ได้คำตอบคือว่าสิ่งที่เหมือนกันทั้งหมดของทุกสิ่งที่เป็นเดธเมทัลในทุกโลกที่เป็นไปได้ ก็คือการทีสิ่งเหล่านั้นถูกเรียกว่า “เดธเมทัล” เท่านั้น ไม่มีคุณสมบัติใดๆ ที่เป็นสิ่งที่เดธเมทัลมีร่วมกันมากกว่านี้ การเรียกอะไรต่อมิอะไรว่าเดธเมทัลนั้นถึงที่สุดแล้วก็หาความแน่นอนไม่ได้ (contingent) เราอาจจะลืมนึกไปว่าเราได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า เดธเมทัล ก็ต่อเมื่อเราได้ใช้คำนี้ในการอธิบายสิ่งต่างๆ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่ามันก็แค่ดำรงอยู่ของมันภาษาได้เข้าไปเกาะเกี่ยวมันภายหลังเองซึ่งรูปแบบในการเกาะเกี่ยวนั้นก็ไม่มีความแน่นอนตายตัวอย่างไรด้วย ดังนั้นจึงไม่มีอะไรจะมารับประกันได้ว่า ทุกสิ่งที่เราเรียกมันว่า เดธเมทัลมันจะมีลักษณะอะไรร่วมกัน ถ้าจะทำให้เป็นภาษาแบบ Lacanian ก็คือ The Real consists no mode of symbolization กล่าวคือ สิ่งต่างๆ นั้นก็แค่ดำรงอยู่ของมัน การที่เราทำให้มันกลายเป็นวัตถุแห่งภาษาและกฏเกณฑ์ นั้นเป็นเรื่องที่หาความแน่นอนไม่ได้ (contingent) ดังนั้นการหาลักษณะร่วมของมันก็เป็นเพียงการหา วัตถุแห่งความเป็นอื่น (object small other/ objet petit a) ที่เป็นเศษเสี้ยวของ The Real ที่เหลือมาจากการทำให้เป็นสัญลักษณ์ (symbolization)เท่านั้น ดังนั้นการหาสิ่งดังกล่าวในระบบสัญลักษณ์นั้นจึงเป็นสิ่งที่ล้มเหลว เช่นเดียวกับการหาการสื่อความหมายร่วมของคำว่าประชาธิปไตยในโลกทุนนิยม และ โลกคอมมิวนิสต์ ในช่วงสนครามเย็น

ส่วนคำอธิบายแบบหลังนั้นเริ่มจากนิยามโดยทั่วไป ซึ่งไม่สามารถครอบคลุม วงเดธเมทัลทั้งหมดได้อย่างแน่นอนอยู่แล้ว แต่สามารถสร้างภาพวงเกรดบีได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และพยายามสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับเดธเมทัลจากตรงนั้น และ พบว่าเหมาะสมในการนำไปใช้มากกว่า

แต่ก็แน่นอนนะครับว่าคนคงไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอของผมได้หมด หรือ อาจจะไม่เลย ดังนั้นทฤษฎีแรกจึงไม่ล่มลงไปอย่างแน่นอน เพราะยิ่งมีการใช้คำใดๆในความหมายที่หลายหลายเท่าใด มันก็ยิ่งจะหาคุณลักษณะที่ร่วมกันของการใช้ในหลายๆ โอกาสได้อย่างยากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการยืนยันว่าสิ่งๆ ต่างๆ นั้นมีความหมายแน่นอนในทุกโลกที่เป็นไปได้นั้น ก็คือ การยืนยันว่าสามารถจะบังคับใช้กฎเกณฑ์อะไรบางอย่างกับทุกโลกดังกล่าว หรือทำให้โลกในทางสัญลักษณ์ (Symbolic Universe) นั้นมีอยู่เพียงแบบเดียวเท่านั้น ซึ่งไม่ต้องพิสูจน์อะไรให้มากมายนั้นก็คงจะเห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเมื่อถึงที่สุดแล้วคำอธิบายในแบบแรกนั้นยังใช้ได้อยู่ ซึ่งถ้ามีโอกาส ผมคงจะเขียนมันอย่างเป็นกิจจะลักษณะกว่านี้

การใช้เดธเมทัลในฐานะคนนอก

อย่างไรก็ตามแต่ในขณะนี้ผมก็เชื่อว่าลักษณะทั่วไปของวงเดธเมทัลก็คือลักษณะร่วมของวงเดธเกรดบี ซึ่งมันเป็นคำอธิบายที่ผมนั้นพึงพอใจทีเดียว เพราะ การที่ใครฟังวงในแนวใดๆ จนลึกไปถึงวงเกรดบีนั้น เป็นข้อพิสูจน์ว่าคนๆ นั้นฟังดนตรีแนวนั้นจริงๆ ซี่งกลุ่มคนดังกล่าวก็เป็นกลุ่มคนที่ผมนั้นสามารถสื่อสาร และแบ่งประเภทด้วยได้อย่างไม่เคอะเขิน ไม่ต้องมานั่งอธิบายว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น (ซึ่งถ้าเจอคนซักมากๆ ก็จะเริ่มสับสนในตัวเองอีก) เพราะ ทุกคนมีภาพอย่างหลวมๆของวงเดธที่ได้มาจากประสบการณ์การฟังเพลงร่วมกัน ดังนั้นถ้ามีอะไรซ้อนทับกับภาพดังกล่าวนั้น ก็จะถูกเรียกว่าเดธเมทัลอย่างที่ไม่ต้องมาอธิบายอะไรกันมาก

แต่ว่าการที่ผมนั้นกล่าวถึงเดธเมทัลในฐานะของวงเดธเกรดบีนั้นเป็นการเหมารวมไปเสียมาก ผมจึงต้องขอมาแจงต่อในที่นี้ เพราะว่าการพูดถึงเดธอย่างนั้นมันทำให้ผมนึกถึงพวกโอลด์สคูลเดธ หรือไม่ก็พวก บรูทัลที่เน้นการควักไส้กันไปเลย (ซึ่งวงพวกนี้มีอยู่ดาษดื่นบนโลกจนน่าตกใจ) ทั้งๆ ที่เดธเมทัลนั้นก็มีหลายแขนงที่ไม่สามารถนิยามเช่นนั้นได้แต่ก็มีชื่อเสริม เช่น โกธิคเดธเมทัล (Gothic Death Metal), ดูมเดธเมทัล (Doom Death Metal), เมโลดิคเดธเมทัล (Melodic Death Metal) เป็นต้น ซึ่งชื่อเสริมก็แสดงถึงลักษณะเฉพาะของมันได้เป็นอย่างดี และก็สอดคล้องกับคำอธิบายเรื่องความเป็นเดธเมทัลของวงเกรดบี ซึ่งส่วนผสมที่เสริมขึ้นมาของมันจะทำให้เกิดสิ่งที่ไม่ใช่ “เดธเมทัล” เฉยๆ อีกด้วย

นอกจากนี้แล้วยังเป็นที่รู้กันว่าในแต่ละท้องถิ่นนั้นเล่นเดธเมทัลไม่เหมือนกันไม่ว่าความแตกต่างจะเป็นท่อนริฟ ไลน์กลอง หรือ เสียงร้อง อาทิเช่น ซาวน์คลาสสิคของมอริสซาวน์ของพวกเดธเมทัลจากฟลอริดา (ส่วนใหญ่วงพวกนี้ออกกับ Roadrunner Records และ วงนอกท้องถิ่นมาอัดที่นี่ต้องช่วงเดธรุ่งเรืองต้นยุค 90), ซาวน์สุดโหดแบบนิวยอร์ค (เดธจากมหานครแห่งนี้มีความโหดกว่าถิ่นอื่นๆ เช่นเดียวกับวงแนวอื่นจากถิ่นนี้ เช่น พวกนิวยอร์คฮาร์คอร์) ซาวน์ของวงจากอังกฤษที่มักจะเล่นไกรนด์คอร์มาก่อน (มีวงดังน้อยกว่าถิ่นอื่นๆ แต่เป็นวงในตำนานทั้งนั้นและดนตรีแต่ละวงก็แทบจะไม่เหมือนกันเลย) หรือ จะเป็นซาวน์แบบสวีดิช (ที่ปัจจุบันต้องแยกเป็นงวงยุคเก่ากับวงยุคใหม่เพื่อความไม่สับสนแล้ว)

นี่ยังไม่นับความเป็นไปได้ของความสับสนของคนที่ไม่รู้จักไกรนด์คอร์ หรือ แบล็คเมทัล ที่อาจเรียกวงเหล่านั้นว่าเดธเมทัลอีก

ที่ผมต้องการแสดงให้เห็นตรงนี้ก็คือว่า คำว่าเดธเมทัลเฉยๆ นั้นอาจไม่บอกอะไรที่เฉพาะเพียงพอ สำหรับวงหนึ่งๆ เลย เหมือนกับการพยายามจินตนาการถึงดนตรีของวงวัยรุ่นวงหนึ่งในรายละเอียด ทั้งๆที่เรารู้เพียงแค่ว่ามันเป็นวง “ร็อค” เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ในระดับที่เล็กกว่า การเรียกวงว่าเดธเมทัลนั้นก็จะมีปัญหาแบบเดียวกัน ถ้าไม่พาลนึกไปว่า วงดนตรีนั้นเป็นวงเกรดบีดาษๆ เสียก่อน แต่วงเกรดบีดาษๆ นั้นก็มีต้องมีพื้นเพของมันถ้าจะนึกดีๆ เพราะ วงเดธจากพลอริดานั้นก็ไม่ได้มีแค่สิบยิ่สิบวง เช่นเดียวกับพวกบรูทัลจากนิวยอร์ค และ พวกสวิดิชเดธ ที่มีวงที่พิมพ์เดียวกันเป็นพรวน กล่าวคือ ทุกๆถิ่นหลักๆ ล้วนมีวงเดธเกรดบีที่เล่นไม่เหมือนวงเดธเกรดบีจากถิ่นอื่น ดังนั้นในแง่นี้แล้ว การเรียกเดธเมทัลเฉยๆ นั้นแทบจะไม่บอกอะไรกับเราเลย

ดังนั้นเนื่องจากความสับสนจากการเหมารวมดังกล่าวผมอาจกล่าวได้หรือ เปล่าว่าก็เรียกวงดนตรีว่าเดธเมทัลเฉยๆโดยไม่ระบุนั้น เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับคนนอกเดธเมทัล ที่ผมใช้คำว่าเกี่ยวกับเพราะว่ามันอาจจะเป็นกิจกรรมของคนนอก หรือในก็ได้ บางที่คนในก็ต้องแสดงตัวให้คนนอกเห็นสำหรับคนนอกที่ฟังเพลงไม่หนักมาก คนเดธก็อาจกล่าวเพียงว่าตนนั้นเป็นคนฟังเมทัล สำหรับคนเมทัลด้วยกันก็อาจกล่าวว่าเป็นคนฟังเดธ สำหรับคนเดธด้วยกันก็อาจกล่าวว่าตนนั้นชอบเมโลดิคเดธแบบสวีดิช ไม่ชอบพวกบรูทัลเพราะมันฟังไม่รู้เรื่อง เป็นต้น

นี่ก็เป็นตัวอย่างที่จะเห็นได้จริงๆ เพราะ ขืนเราทำการเฉพาะเจาะจงไปกับคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องเราก็ต้องมาอธิบายให้ยืดยาวอีกซึ่งจะรู้เรื่องหรือเปล่าก็ไม่รู้ เราจึงต้องประเมินความรู้ของผู้ที่เราจะสื่อสารด้วยก่อนที่จะทำการสื่อสาร ถ้าประเมินไม่ได้ก็ต้องตอบกลางๆ ไม่ก่อน ผมคนหนึ่งแหละที่จะไม่ตอบคู่สนทนาที่ผมพึ่งรู้จักในคำถามที่ว่า คุณชอบฟังเพลงแนวอะไร ด้วยคำตอบอย่าง “พวกสวีดิชเมโลดิกเดธ กับ พวกอวองการ์ด” เพราะ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ผมจะคาดหวังให้คนทั่วไปเข้าใจ สิ่งที่ผมจะตอบไปกับคำถามเดียวกันก็อาจเป็น “พวกเมทัลหนักๆ กับ พวกงานแปลกๆ” เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ผมคาดหวังให้คนทั่วไปเข้าใจในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าเขาอยากรู้เขาก็จะถามต่อเอง

นี่ก็เป็นวิถีในการปฏิบัติตัวของผมเท่านั้นผมไม่แน่ใจว่าคนอื่นๆ ปฏิบัติตัวอย่างผมหรือ เปล่า แต่เท่าที่ผมรู้จักคนฟังเพลงมาหลายคนอยู่ ก็ยังไม่เคยมีใครบอกแนวที่ตนสังกัดอยู่ในช่วงแรกของบทสนทนาครั้งแรก ส่วนใหญ่จะเป็นการบอกกว้างๆ แล้วลองภูมิกันไปลองภูมิกันมาด้วยการแย็บคำถามจนในที่สุดนั้นก็รู้ใส้รู้พุงกันมากกว่า และ เมื่อผมรู้แล้วว่าพวกเขาฟังอะไร เมื่อมีคนถามผมผมก็จะกรองคำตอบอีกที่ให้เข้ากับความสามารถในการเข้าใจของคนถาม เพราะ ถ้านาย ข. เพื่อนผมที่ฟังแต่เพลงป็อป ถามว่า นาย ก. (ซึ่งเป็นเพื่อนผมที่ฟังแต่พวก นิวยอร์กบรูทัล) ฟังเพลงแนวไหน แล้วผมตอบว่านิวยอร์กบรูทัล นาย ข. ก็คงงงเป็นไก่ตาแตกว่าไอ้นิวยอร์ก บรูทัลนี่มันคืออะไรหว่า แล้วผมก็ต้องมานั่งอธิบาย ว่ามันเป็นเดธพวกหนึ่ง ถ้านาย ข. ยังไม่เข้าใจอีก ผมก็คงต้องอธิบายว่า เดธเมทัลนั้นมันเป็นดนตรีเมทัลจำพวกหนึ่ง ถ้ามันยังไม่เข้าใจอีกอีกผมก็คงต้องถามว่า มึงรู้จัก “ดนตรีร็อค” ไหม? ถ้ามันบอกว่าใช่ ผมก็คงบอกว่า เมทัลมันก็เป็นร็อคหนักๆ ประเภทหนึ่ง ถ้ามันยังบอกว่าไม่รู้จักอีก ผมก็คงต้องตบกบาลมันซักฉาดหนึ่งแล้ว บอกมันว่า ไอ้ห่า ดนตรีร็อคมันก็เป็นป็อปคัลเจอร์นะโว้ย! มึงไม่ฟังมึงก็ช่วยรู้จักหน่อยสิวะ!

นี่ก็เป็นกรณีที่สุดขั้วอยู่นะครับ เพราะในปัจจุบันที่ป็อปคัลเจอร์ได้กระจายไปทั่ว คงจะไม่มีใครไม่รู้จักดนตรีร็อคถ้าเขายังเข้าถึงสื่อมวลชนอยู่ แต่คนไม่รู้จักเมทัลผมค่อนข้างมั่นใจว่ามีแน่นอน ซึ่งคนเหล่านี้ก็อาจเห็นวัฒนธรรมเมทัลเป็นส่วนหนึ่งของร็อคเท่านั้น ก็ไม่ว่ากัน แต่ก็ขอให้รู้นิดนึงว่า โดยทั่วไปแล้วคนชายขอบนั้นไม่ชอบการถูกเหมารวมนะครับ ยิ่งการถูกเหมารวมกับศูนย์กลางแล้วยิ่งเป็นสิ่งที่น่าคลื่นไส้เข้าไปใหญ่ ดังนั้นการไม่แยกแยะระหว่างวงป็อปพังค์ตามเอ็มทีวี, วงร็อคตลาดไทย หรือ วงนิวเมทัลที่ทำงานสุดจะขายออกมา ออกจากพวกวงเอ็กซ์ตรีมเมทัล พวก แมธคอร์ (Mathcore) พวกไกรนด์คอร์ พวกเดธเมทัล พวกแบล็คเมทัล มันจึงเป็นเรื่องที่สร้างความไม่พอใจได้นะครับ ไม่ใช่เหมาว่าวงมันแต่งตัวไว้ผมคล้ายกันแล้วจะเล่นดนตรีเหมือนกันหมด คุณอาจจะคิดได้แต่การที่คุณแสดงมันออกมามันอาจสร้างความไม่พอใจได้ในระดับหนึ่งเลยนะครับ เดี่ยวจะหาว่าผมไม่เตือน
My Odeo Podcast